Pages

Tuesday, June 30, 2020

ปัดฝุ่นผู้พิทักษ์อนามัย แผนรับมือเปิดเทอม - ไทยรัฐ

tombolsakti.blogspot.com

ส่วนการติดเชื้อโควิด-19 ภายในประเทศไม่มีแล้ว แต่ก็ไม่เป็นที่ไว้วางใจ เพราะประเทศล้อมเรายังมีการระบาดอยู่มากมาย ทำให้ยังคงมีมาตรการเฝ้าระวังป้องกันอย่างเข้มงวดกันต่อไป

แน่นอนเมื่อไม่เกิดการติดเชื้อในประเทศ...จำเป็นต้องผ่อนปรนมาตรการต่างๆ ในสถานที่ กิจกรรมและกิจการให้ดำเนินขับเคลื่อนธุรกิจต่อไปได้ โดยเฉพาะ “การเปิดโรงเรียน” ทั้งกลุ่มโรงเรียนนานาชาติ โรงเรียนขนาดกลาง โรงเรียนที่มีนักเรียนน้อยกว่า 120 คน

ในการเปิดโรงเรียนนี้ก็มีการจัดทำ “คู่มือการปฏิบัติสําหรับสถานศึกษา ในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19” ให้โรงเรียนได้ประเมินเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเคร่งครัด เพื่อให้สถานศึกษาเป็นที่ปลอดภัย สามารถเรียนรู้ได้อย่างเต็มศักยภาพ ปลอดภัยจากโรคนี้

มีการ “ถอดบทเรียน” ในบางประเทศ “เปิดโรงเรียนแล้ว” กลับมาระบาดขึ้นใหม่ จนมีการ “ปิดโรงเรียน” เรื่องนี้ถูกนำมาเป็นโจทย์สำคัญให้คิดว่า...“เปิดเรียนอย่างไรไม่ให้มีการติดเชื้อในโรงเรียน”

ถ้าระบาดติดเชื้อขึ้นจริง...ต้องติดเชื้อให้น้อย และมีมาตรการสามารถเข้าควบคุมป้องกัน หยุดการแพร่เชื้อไวรัสได้เร็วที่สุด ทำให้มีการร่วมมือกันของภาคีเครือข่าย ในมาตรการ “เปิดเทอมปลอดภัยจากโควิด-19” มีอยู่ 6 มิติ คือ มิติที่หนึ่ง...ลดการแพร่เชื้อโรค 6 ด้าน ได้แก่ 1.คัดกรองวัดไข้ และอาการเสี่ยงก่อนเข้าสถานศึกษา...

2.สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา 3.มีจุดบริการล้างมือเพียงพอ 4.จัดให้มีการเว้นระยะห่าง 5.ทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสร่วมกัน และ 6.ลดความแออัด ไม่จัดกิจกรรมที่มีการสัมผัสร่วมกัน มิติที่สอง...การเรียนรู้ สนับสนุนสื่อความรู้ สร้างความเข้มแข็งระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน

มิติที่สาม...การครอบคลุมถึงเด็กด้อยโอกาส กลุ่มเด็กพิเศษ และเด็กในพื้นที่ห่างไกลมาก มิติที่สี่...สวัสดิภาพและการคุ้มครองเตรียมแผนรองรับสำหรับนักเรียนป่วย มิติที่ห้า...นโยบาย มีแผนงาน โครงการรองรับ มิติที่หก... การบริหารการเงิน สำหรับการป้องกันการระบาด

ตามมาตรการ 6 มิตินี้ที่มี 44 ข้อ ในการประเมินความพร้อมของสถานศึกษาในการเปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2563 ราว 4 พันกว่าแห่งทั่วประเทศ มีโรงเรียนผ่านการประเมินสามารถเปิดโรงเรียนได้ 90% และอีก 10% เป็นโรงเรียนไม่สามารถเปิดได้ ต้องดำเนินการปรับปรุงให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด

โดยเฉพาะยังขาด “แกนนำสุขอนามัย” ที่ต้องทำงานด้านสุขอนามัยให้เชื่อมโยงกันระหว่างโรงเรียนและ สนง.สาธารณสุข เรียกว่า “ผู้พิทักษ์อนามัยโรงเรียน” มีบทบาทหน้าที่เป็นผู้ปฏิบัติงานแบบบูรณาการงานด้านอนามัยในโรงเรียน ครอบครัวและชุมชน

และยังมีเรื่องออกแบบระยะห่างในชั้นเรียน หรือจัดระบบแบ่งชั้นเรียนเหลื่อมเวลากันเรียน หรือเรียนผ่านออนไลน์ จึงมีคำแนะนำให้เร่งมีการปรับปรุงเรื่องนี้ คิดว่าในเวลาก่อนเปิดเทอมนี้น่าจะสามารถปรับปรุงแก้ไขได้

ทว่า...“ผู้พิทักษ์” เกิดคู่กับโรงเรียนมานาน ต่างรู้จักดี...“นักเรียนประจำห้องพยาบาลโรงเรียน” หากเป็น “โรงเรียนเอกชน” จะจ้างบุคลากรทางการแพทย์ประจำห้องพยาบาลเป็นการจำเพาะ คอยให้คำปรึกษาด้านสุขภาพต่างๆ ส่วนโรงเรียนภาครัฐก็ส่งบุคลากรทางด้านสาธารณสุข เข้าไปให้คำแนะนำเป็นครั้งคราว

โรงเรียนใด...พร้อมก็ตั้งนักเรียนเป็น “แกนนำผู้พิทักษ์” มีครูและ สนง.สาธารณสุขอำเภอ เป็นผู้ให้คำปรึกษาแนะนำต่างๆ แต่ในสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ต้องมีการปัดฝุ่นโครงการนี้เพื่อให้มี “ผู้พิทักษ์อนามัยโรงเรียน” ในการทำหน้าที่ด้านสุขอนามัยเบื้องต้น ในการเฝ้าระวังควบคุมโรคติดต่อ การตรวจคัดกรอง เป็นต้น

ในรูปแบบการสร้างเครือข่ายป้องกันโควิด-19 ในระดับโรงเรียน ส่งข้อมูลต่อให้ สนง.สาธารณสุขระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับกรม ที่มีผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้กำกับดูแลให้โรงเรียนมีสุขอนามัยเป็นไปตามมาตรฐาน

สถานการณ์เช่นนี้ สถานศึกษาต้องปรับสอดรับกับ “วิถีชีวิตใหม่” ด้วยการสร้างชีวิตประจำวันแบบใหม่ เพื่อดูแลนักเรียนได้โดยที่ไม่ต้องติดเชื้อโควิด-19 เริ่มจาก “ผู้ปกครอง” ที่เป็นบุคคลใกล้ชิดกับเด็กมากที่สุด ต้องมีบทบาท และส่วนร่วมกับสถานศึกษาเพื่อป้องกันได้ด้วยเช่นกัน

ในการสร้างสุขนิสัยที่ดี...กลับมาถึงบ้านต้องรีบอาบน้ำ สระผม และเปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่ทันที และหมั่นสังเกตอาการป่วย “บุตรหลาน” ถ้ามีอาการไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หายใจลำบาก เหนื่อยหอบ ต้องรีบพาไปพบแพทย์ และแยกเด็กไม่ให้ไปเล่นกับคนอื่น ด้วยการให้พักผ่อนอยู่ที่บ้าน จนกว่าจะหายเป็นปกติ

มีการจัดหาของใช้ส่วนตัวอย่างเพียงพอ และทำความสะอาดทุกวัน เช่น หน้ากากผ้า ช้อน ส้อม แก้วน้ำ แปรงสีฟัน ยาสีฟัน ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว รวมทั้งจัดหาสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ และกำกับดูแลบุตรหลานให้ล้างมือบ่อยๆ ก่อนกินอาหาร หลังใช้ส้วม หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสใบหน้า ตา ปาก จมูก โดยไม่จำเป็น

สำหรับ “โรงเรียนต่างจังหวัด” ไม่ห่วงกังวลนัก เพราะมีขนาดเล็กบางแห่งมีนักเรียนไม่ถึง 120 คนด้วยซ้ำ สามารถจัดการเรียนการสอนได้ดี อีกทั้ง “ห้องเรียน” ก็มีลักษณะ “โอเพ่นแอร์” เปิดโล่งรับลมทั้งหมดด้วย

ประเด็นน่าห่วง...“โรงเรียนขนาดใหญ่ มีนักเรียนมากกว่า 1,000 คนขึ้นไป” มักตั้งอยู่ในหัวเมืองหลัก รวมถึงกรุงเทพฯและปริมณฑล ที่ต้องมี ระบบการเรียนการสอนเว้นระยะห่างเข้มงวด โดยเฉพาะ “โรงเรียนกินนอน” ต้องเพิ่มความระวังยิ่งขึ้น ถ้าเกิดการระบาดของโรค จะมีโอกาสแพร่เชื้อโควิด-19 ได้เร็ว

ดังนั้น ต้องมีมาตรการให้นักเรียนอยู่โรงเรียนนานขึ้น และอนุญาตให้ผู้ปกครองเยี่ยมได้เป็นครั้งคราว หากปล่อยกลับบ้านต้องติดตามใกล้ชิด เมื่อกลับสู่โรงเรียนต้องกักตัว 7-14 วัน ก่อนเข้าเรือนนอนร่วมกับคนอื่น เพื่อป้องกันการติดเชื้อภายนอกมาในโรงเรียน ส่วน “บุคคลอื่น” ต้องผ่านการคัดครองตามมาตรการอย่างเข้มงวดเช่นกัน

สิ่งสำคัญ...ถ้ามีการระบาดต้อง “ปิดสถานศึกษา” ทำความสะอาด และสำรวจคัดกรองนักเรียน บุคลากรทุกคน หากพบผู้เข้าหลักเกณฑ์ต้องเก็บ ตัวอย่างส่งตรวจ “หาเชื้อ” ในกลุ่มผู้สัมผัสให้แยกอยู่บ้าน และรายงานอาการ ที่มีทีมสอบสวนโรคทำการติดตามผู้สัมผัสทุกวันจนครบกำหนด

“คู่มือป้องกันโควิด-19” นี้เป็นคำแนะนำให้โรงเรียนปฏิบัติตามขั้นตอนมาตรการที่มีความหวังให้ทุกโรงเรียนปฏิบัติตามและดำเนินการ ต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้เกิดการระบาดใน “ระลอก 2”.

Let's block ads! (Why?)



"เปิด" - Google News
July 01, 2020 at 05:04AM
https://ift.tt/2ZrkJl0

ปัดฝุ่นผู้พิทักษ์อนามัย แผนรับมือเปิดเทอม - ไทยรัฐ
"เปิด" - Google News
https://ift.tt/3cla53G

No comments:

Post a Comment