“ศักดิ์สยาม” รื้อรถไฟฟ้าสายสีแดง “ตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต” เปิด PPP ดึงเอกชนลงทุน 50 ปี 1.7 แสนล้าน เหมาสร้าง 3 ส่วนต่อขยาย พื้นที่รีเทล 29 สถานี พ่วง “สถานีกลางบางซื่อ” แลกสัมปทานเดินรถรังสิต-ศาลายา ประมูลกลางปี”64 กระทบไทม์ไลน์เปิดหวูดขยับเป็นปี”66 บิ๊กบีทีเอส ซิโน-ไทยฯ เชียร์สุดตัว
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จะปรับรูปแบบการเดินรถของรถไฟชานเมืองสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน จากเดิมมติคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ให้บริษัทลูกการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) คือ บจ.รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. ผู้เดินรถแอร์พอร์ตลิงก์ เป็นผู้เดินรถ จะเปลี่ยนเป็นเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนรูปแบบ PPP net cost สัญญาเดียวทั้งสร้างส่วนต่อขยาย งานระบบและขบวนรถ เก็บค่าโดยสาร โดยเอกชนจะได้สัมปทานเดินรถและพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ 29 สถานี รวมสถานีกลางบางซื่อด้วย
รื้อรูปแบบเดินรถสีแดงใหม่
“ที่ผ่านมามีปัญหาปรับแบบก่อสร้าง ทำให้งบฯลงทุนเพิ่มหลายครั้ง ล่าสุดเพิ่ม 10,345 ล้านบาท ต้องขอคณะรัฐมนตรีขยายกรอบวงเงิน จึงให้รถไฟไปศึกษาให้เอกชนร่วมลงทุน รับภาระค่าลงทุนต่าง ๆ เพื่อลดภาระรัฐ หากยังเดินหน้าโดยให้รถไฟเดินรถ รัฐจะต้องรับภาระขาดทุนของโครงการอีก อย่างการบริหารพื้นที่สถานีกลางบางซื่อระบุว่าจะขาดทุนใน 7 ปีแรก 600-700 ล้านบาท ให้รถไฟสรุปผลศึกษาเสนอมายังคมนาคมเสนอให้ คนร.พิจารณา คาดว่าในไตรมาส 2 ของปี 2564 จะเปิด PPP ได้”
นายศักดิ์สยามกล่าวอีกว่า ผลจากการปรับเดินรถใหม่และงานสัญญา 3 งานออกแบบและติดตั้งระบบราง ระบบไฟฟ้า ระบบอาณัติสัญญาณ สื่อสาร, ระบบจัดเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติ และตู้รถโดยสาร ยังล่าช้า ซึ่งผู้รับจ้างขอขยายเวลาอีก 500 วัน ทำให้ต้องเลื่อนกำหนดเปิดให้บริการสายสีแดงช่วงตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต จากในปี 2564 เป็นในปี 2566 ไม่อยากให้เร่งเปิดบริการเพราะสถานีกลางบางซื่อ งานก่อสร้างและบริหารพื้นที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ อาจจะทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยต่อผู้มาใช้บริการได้
บอร์ดไฟเขียว PPP เดินรถ
นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 16 ก.ค. ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท.เห็นชอบผลการศึกษาและเปรียบเทียบการบริหารจัดการการเดินรถสายสีแดง ระหว่างให้ ร.ฟ.ท.บริหารเองกับให้เอกชนดำเนินการ โดยบอร์ดอนุมัติให้เอกชนเดินรถรูปแบบ PPP net cost ระยะเวลาประมาณ 30 ปี
ส่วนวงเงินอยู่ระหว่างสรุปบอร์ดมองว่าเปิด PPP เพื่อไม่ให้ ร.ฟ.ท.รับความเสี่ยงลงทุนก่อสร้างส่วนต่อขยายเพื่อเพิ่มภาระหนี้อีก ซึ่งหนี้ที่จะเกิดขึ้นใหม่ มีเงินลงทุนส่วนต่อขยาย 4 เส้นทาง จ่ายค่าใช้สิทธิเดินรถ รวมแล้วประมาณ 90,000 ล้านบาท ยังไม่รวมกับภาระขาดทุนในช่วงเปิดบริการสถานีกลางบางซื่อ 7 ปีแรก ภายในเดือน ก.ค.นี้ จะเสนอเรื่องให้กระทรวงคมนาคมรับทราบก่อนเสนอ คนร.พิจารณาทบทวนมติเดิมเมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2562 และนำเสนอให้คณะกรรมการร่วมทุนภาครัฐและเอกชน (บอร์ด PPP) อนุมัติต่อไป
“ขณะนี้การเปิดบริการยึดตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ภายในปี 2566 ถ้าจะให้เปิดก่อน ร.ฟ.ท.ก็พร้อมเปิดได้ทันที โดยได้เตรียมพนักงานบางส่วนไว้แล้ว เพื่อทำการเดินรถช่วงแรก ระหว่างรอเปิด PPP เมื่อได้เอกชนรายใหม่จะให้มาสวมสิทธิการเดินรถภายหลัง”
ดึงเอกชนลงทุน 1.7 แสนล้าน
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า บอร์ดอนุมัติเพียงรูปแบบเดินรถว่าจะเปิดให้เอกชน PPP เพื่อเสนอให้คมนาคมพิจารณา ยังต้องจ้างที่ปรึกษาศึกษารายละเอียดแต่ละส่วน จะใช้เวลาอย่างน้อย 4 เดือน จึงเสนอ คนร.อนุมัติเปลี่ยนมติเดิม ทั้งนี้ จากข้อมูลที่ ร.ฟ.ท.เสนอเบื้องต้นจะให้เอกชนร่วมลงทุนสายสีแดงทั้งส่วนเก่าและต่อขยายใหม่กว่า 1.7 แสนล้านบาท ระยะเวลาสัมปทานเดินรถและพัฒนาสถานี 50 ปี โดยมีผลตอบแทนการลงทุน หรือ IRR อยู่ที่ 5-6%
“เอกชนจะหาเงินมาชำระหนี้ค่าก่อสร้างช่วงบางซื่อ-รังสิต ให้ประมาณ 1 แสนล้านบาท รัฐจะชำระคืนภายหลังเหมือนสายสีส้มและไฮสปีด 3 สนามบิน เอกชนจะรับภาระหนี้เฉพาะค่าลงทุนส่วนต่อขยาย ประมาณ 60,000 ล้านบาท ช่วงรังสิต-ธรรมศาสตร์ ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช และช่วง Missing Link และจ่ายคืนค่างานระบบ 32,399 ล้านบาท”
ทั้งนี้ แผนเดิมรถไฟจะแยกประมูลเป็นส่วน ๆ คือ ประมูลสร้างส่วนต่อขยาย หาเอกชนพัฒนาพื้นที่สถานีรายทางตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต ยกเว้นสถานีกลางบางซื่อ ดอนเมือง รังสิต ที่รถไฟจะดำเนินการเอง ต่อมานโยบายเปลี่ยนให้เอกชนรับความเสี่ยงแทน รวบเป็นแพ็กเกจเดียวกัน ให้คุ้มค่าการลงทุน เฉพาะรายได้ค่าโดยสารอย่างเดียว โครงการไม่สามารถเลี้ยงตัวเองได้
“การเดินหน้าตามขั้นตอน PPP คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน ต.ค. 2564 พอดีกับกลุ่ม ซี.พี.เข้าบริหารแอร์พอร์ตลิงก์ มีแนวคิดจะโยกคนมาเดินรถสายสีแดงชั่วคราวระหว่างรอเอกชนรายใหม่ เนื่องจากโครงสร้างงานโยธาและขบวนรถมีพร้อมแล้ว แต่อาจจะเปิดได้ไม่เต็มรูปแบบ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับนโยบาย”
บีทีเอส-ซิโน-ไทยฯสนใจ
สำหรับเอกชนที่สนใจแหล่งข่าวกล่าวว่า มี 2 กลุ่ม คือ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTS) ผู้รับสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว และ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ผู้รับสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และยังร่วมทุนกับกลุ่ม ซี.พี. ลงทุนรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินและแอร์พอร์ตลิงก์
“สายสีแดงจะมีสถานีกลางบางซื่อเป็นศูนย์กลางการเปลี่ยนถ่ายการเดินทาง ซึ่งในระยะยาวเป็นโครงการที่ให้ผลตอบแทนที่ดี หากมีการบริหารจัดการดี ๆ โดยเฉพาะสถานีกลางบางซื่อที่จะเป็นสถานีจอดของรถไฟชานเมือง รถไฟทางไกล รถไฟความเร็วสูง ที่จะเป็นจุดสนใจดึงเอกชนมาลงทุน” แหล่งข่าวกล่าว
นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานบริหาร บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) เปิดเผยว่า เห็นด้วยที่รัฐจะเปิดให้เอกชนมีส่วนร่วมลงทุน PPP รถไฟฟ้าสายสีแดง ซึ่งบีทีเอสมีความสนใจเพราะเป็นธุรกิจหลักของบริษัท รอนโยบายรัฐประกาศออกมาอย่างเป็นทางการ
สอดคล้องกับ นายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น กล่าวว่า สนใจจะเข้าร่วมประมูล หากรัฐประกาศนโยบายออกมาชัดเจนจะเปิด PPP รูปแบบไหน
"เปิด" - Google News
July 20, 2020 at 09:00AM
https://ift.tt/2OBtzb0
ดึงเอกชนเหมาเข่ง รถไฟฟ้าสายสีแดง "ศักดิ์สยาม" เปิดสัมปทาน 50 ปี - ประชาชาติธุรกิจ
"เปิด" - Google News
https://ift.tt/3cla53G
No comments:
Post a Comment